พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี พิพิธภัณฑ์แห่งโลกอนาคต

 พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี พิพิธภัณฑ์แห่งโลกอนาคต

          สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน หลังจากห่างหายจากการเขียนบล็อกไปนาน วันนี้กลับมาพบกันในหัวข้อที่น่าสนใจ เนื่องจากผู้เขียนได้เดินทางไปเที่ยวชมโบราณสถานแถบจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย กับเพื่อนและอาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เรายังคงอยู่ในตีมสถาปัตยกรรมและศิลปะอันสวยงามเก่าแก่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสถานที่ที่ผู้เขียนสนใจมาก และอยากนำมาเล่าให้กับผู้อ่านทุกท่านนั่นคือ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

          พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี เป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอความเป็นเมืองอุดรธานี ซึ่งมีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในปัจจุบันเข้ามาใช้ โดยจะมีอาคาร 2 หลังใกล้กัน ผู้เขียนจะขอพูดถึงอาคารหลังแรกที่เห็นหลังจากลงรถนั่นคือ อาคารศูนย์บริการของพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาใหม่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะพื้นบ้านสมัยใหม่ ลวดลายของตัวอาคารเป็นฉลุลายหมี่ขิดสมเด็จของเมืองอุดรธานี ใช้สีสำริด สื่อไปถึงยุคของบ้านเชียงที่เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญในอุดรธานี และแห่งหนึ่งของโลก เมื่อเดินผ่านอาคารนี้เข้ามาจะเจออาคาร 2 ชั้น รูปแบบโคโลเนียลสีเหลืองสวยงาม ชื่อว่าอาคารราชินูทิศ เป็นสถาปัตยกรรมอาณานิคม โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส นอกจากความสวยแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแล้วภายในยังพบอิฐไม้เป็นส่วนประกอบในการสร้างอาคารแทรกอยู่ สันนิษฐานว่าใช้เพื่อลดแรงเสียดทานของชั้นดิน ในวันที่ 14 มกราคม 2541 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารราชินูทิศให้เป็นโบราณสถาน

แต่เดิมอาคารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนสำหรับสตรีประจำเมืองอุดร ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่าโรงเรียนราชินูทิศ ภายหลังเมื่อมีการขยายตัวของเมืองทำให้ย้ายโรงเรียนไป อาคารหลังนี้จึงถูกปรับปรุงเรื่อยมาและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ครั้งแรกในวันที่ 18 มกราคม 2547


(อาคารราชินูทิศ ภาพโดย Siriwan Pannok)

ภายในอาคารชั้นล่างจะมีทั้งหมด 11 ห้อง ดังนี้ 1.ห้องเมืองที่มีชีวิต 2.ห้องผืนดินอีสานใต้ทะเล 3.ห้องเมื่อธรณีแปรสัณฐาน 4.ห้องอาณาจักรเกลือ 5.ห้องจากชุมชนสู่วัฒนธรรม 6.ห้องจากวัฒนธรรมสู่อารยธรรม 7.ห้องมรดกจากบรรพบุรุษ 8.ห้องเมื่อพระพุทธศาสนามาถึง 9.ห้องของดีเมืองอุดร 10.ห้องอนาคตในมือคุณ 11.ห้องเกียรติประวัติอาคารราชินูทิศและห้องรับรอง เนื่องจากมีหลายห้องและมีรายละเอียดในแต่ละห้องเยอะ ผู้เขียนจึงอยากจะเล่าเพียงคร่าว ๆ และลงรายละเอียดในห้องที่ผู้เขียนชื่นชอบ

ห้องเมืองที่มีชีวิตคือห้องแรกที่เมื่อเข้าไปในอาคารแล้วเจอเป็นห้องแรก  เป็นห้องที่มีรูปแบบจำลองของเมืองอุดรขนาดย่อม แต่น่าเสียดายที่เทคโนโลยีในการนำเสนอใช้ไม่ได้ เราจึงไปห้องต่อไปนั่นคือห้องอนาคตในมือคุณ ภายในห้องจะเป็นจอ 360 องศาฉายเกี่ยวกับเรื่องเมืองอุดรธานี ความเป็นมาในอดีต วิสัยทัศน์ของชาวเมืองอุดร การที่ได้ดูวิดีโอนี้ทำให้ผู้เขียนเองรู้จักชาวอุดรและเมืองอุดรมากขึ้นในระดับนึง และมีความรู้สึกว่าเมืองอุดรนั้นน่าอยู่

การจัดเรียงห้อง การร้อยเรื่องราวในแต่ละห้องนั้นมีความปะติดปะต่อกัน อย่างห้องผืนดินอีสานใต้ทะเลจะกล่าวตั้งแต่ยุคโบราณดึกดำบรรพ์กำเนิดโลกตั้งแต่อีสานยังเป็นทะเล ห้องนี้ใช้การนำเสนอที่สวยงามและน่าสนใจ จนรู้สึกเหมือนว่าสัตว์โบราณนี้มีชีวิตอยู่ และห้องต่อไปก็เป็นการลดลงของระดับน้ำทะเลและยุคของไดโนเสาร์ จนเวลาผ่านไปหลายร้อยหลายพันปี จึงกลายเป็นห้องอาณาจักรเกลือ การที่เมืองอุดรมีเกลือเพราะได้กล่าวไว้ตั้งแต่ห้องผืนดินอีสานใต้ทะเล ว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นทะเลมาก่อนเมื่อน้ำลดระดับลงเกลือก็ยังคงแทรกอยู่ตามพื้นดินอยู่ โดยเกลือจะเป็นเกลือสินเธาว์ที่สกัดมาจากดินขี้ทา ซึ่งในสมัยก่อนใช้เกลือในการแลกเปลี่ยนสินค้า

(ห้องผืนดินอีสานใต้ทะเล ภาพโดย Siriwan Pannok)

ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เริ่มมีมนุษย์เกิดการล่าสัตว์ หาของป่าเพื่อยังชีพ  จนพัฒนาต่อมากลายเป็นชุมชนตามเส้นทางแม่น้ำโขง ภายในห้องจากชุมชนสู่วัฒนธรรมจะเป็นการนำเสนอแผนที่ของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศต่าง ๆ ห้องต่อไปเป็นห้องจากวัฒนธรรมสู่อารยธรรม นำเสนอเป็นภาพเขียนรูปของผู้คนสมัยก่อนที่แสดงเรื่องราววิถีชีวิต และความเชื่อ การนำเสนอน่าสนใจตรงที่เมื่อกดที่รูปภาพจะมีเสียงและอธิบายของภาพให้เราได้เข้าใจมากขึ้น มีการค้นพบซากสุนัขโบราณที่สมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนามให้ว่าคุณทองโบราณ ห้องต่อไปเป็นห้องที่ผู้เขียนชื่นชอบมากนั่นคือห้องมรดกจากบรรพบุรุษ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอารายธรรมโบราณที่ค้นพบในบ้านเชียง ภายในห้องแบ่งเป็นสองฝั่ง ฝั่งซ้ายมือจะเป็นการจำลองสิ่งที่พบในบ้านเชียง ซึ่งจำลองได้สวยงามและเหมือนของจริงมาก ฝั่งขวามือจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับการขุดค้นพบ การนำเสนอจะเป็นแบบหัวข้อข่าวจากหนังสือพิมพ์ นำมาขยายใหญ่และใส่กรอบนูนให้ เป็นการนำเสนอที่น่าสนใจ เพราะการเขียนข่าวจะเป็นการให้ข้อมูลที่กระชับและเข้าใจง่าย และสามารถมองในมุมที่คนไทยทั้งประเทศต่างก็สนใจการค้นพบนี้จนเป็นข่าวหน้าหนึ่งหลายสำนักพิมพ์

(ห้องจากวัฒนธรรมสู่อารยธรรม ภาพโดย Siriwan Pannok)



                                             (ห้องมรดกจากบรรพบุรุษ ภาพโดย Siriwan Pannok)


ก่อนที่จะเดินสู่ห้องต่อไประหว่างทางเดินได้มีการนำเสนอที่สื่อไปถึงการนับถือผีของยุคบ้านเชียงนั่นคือ การมีรากต้นไทรห้อยลงมาเมื่อผู้เขียนเดินผ่านก็รู้สึกขนลุกอยู่หน่อย ๆ เมื่อเดินผ่านทางเดินความเชื่อแบบเดิมแล้วก็นำไปสู่ห้องความเชื่อแบบใหม่คือห้องเมื่อพระพุทธศาสนามาถึงเป็นการนำเสนอเรื่องราวการเข้ามาและการนับถือศาสนาพุทธของแถบอีสานนี้ ก่อนที่จะขึ้นไปชั้นสองก็ได้แวะที่ห้องเกียรติประวัติอาคารราชินูทิศและห้องรับรอง ห้องนี้จะทำให้เห็นรูปแบบอาคารที่ใช้อิฐสร้างอย่างชัดเจน เป็นห้องที่แสดงประวัติอาคารราชินูทิศและใช้เป็นห้องรับแขกในโอกาสที่สำคัญ


 (ห้องเมื่อพระพุทธศาสนามาถึง ภาพโดย Siriwan Pannok)

ชั้นสองมีทั้งหมด 15 ห้อง ได้แก่ 1.ห้องกำเนิดหมากแข้ง 2.ห้องมือที่สร้างเมือง 3.ห้องกว่าจะเป็นอุดรธานี 4.ห้องชีวิตชาวอุดร 5.ห้องเมื่อความเปลี่ยนแปลงมาเยือน 6.ห้องไอร้อนสงครามโลก 7.ห้องระอุสงครามเย็น 8.ห้อง G.I. ทหารเกณฑ์มะกัน 9.ห้องรอยจำแห่งอดีต 10.ห้องงานเลี้ยวย่อมมีวันเลิกรา 11.ห้องทศวรรษที่สูญหาย 12.ห้องยืดหยัดบนลำแข้ง 13.ห้องพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม 14.ห้องอีสานอริยสงฆ์ 15.ห้องคนดีศรีอุดร

โดยห้องที่เข้าไปเมื่อขึ้นไปถึงชั้นสองคือห้องพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นห้องที่เล่าพระประวัติและเครือราชสกุล ความเป็นมาของการก่อตั้งเมืองอุดร กลางห้องจะมีรูปปั้นของพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมตั้งอยู่ด้วย ห้องต่อไปเป็นห้องอีสานอริยสงฆ์ ห้องนี้การนำเสนอน่าสนใจตรงที่จะมีเก้าอี้นั่งที่ฉายข้อคิดคติธรรมลงบนที่นั่งด้วย ผู้เข้าชมสามารถนั่งบนเก้าอี้เพื่อทำสมาธิได้ ต่อไปเป็นห้องคนดีศรีอุดร นำเสนอเกี่ยวกับบุคคลที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เมืองอุดร ห้องนี้มีลูกเล่นตรงพื้น จะมีที่ให้เหยียบและข้อมูลจะฉายอยู่บนหน้าจอ


                                            (ห้องพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ภาพโดย Siriwan Pannok)

(ห้องคนดีศรีอุดร ภาพโดย Siriwan Pannok)

ต่อไปเป็นห้องกำเนิดหมากแข้ง ห้องนี้จะมีเรื่องราวตัวหนังสือให้อ่านเยอะ แต่เนื่องจากเวลามีจำกัดผู้เขียนจึงไม่ได้มีเวลาไปอ่าน ข้อมูลคร่าว ๆ เป็นประวัติการก่อสร้างเมืองอุดรธานี ห้องถัดไปเป็นห้องมือที่สร้างเมือง ผู้เขียนชอบการนำเสนอของห้องนี้มากเป็นการนำเสนอการจัดการการสร้างเมืองแบบรัฐสมัยใหม่ โดยบนเพดานและผนังห้องจะมีจำลองมือขนาดใหญ่ยื่นลงมากลางห้อง สื่อให้เห็นการคิดการสร้างคนละไม้คนละมือ ตรงทางเดินก่อนที่จะไปห้องถัดไปเป็นมือหลาย ๆ มือยื่นออกมาจากผนังและมีเหรียญวางอยู่บนมือ มุมห้องจะมีกล่องรับบริจาควางไว้อยู่ การนำเสนอแบบนี้ทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกได้ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้บริจาคไปจะได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน


(ห้องกำเนิดหมากแข้ง ภาพโดย Siriwan Pannok)


                                                                   (ห้องมือที่สร้างเมือง ภาพโดย Siriwan Pannok)

ห้องกว่าจะเป็นอุดรธานี ตรงกลางพื้นห้องจะเป็นกระจก ใต้กระจกเป็นผังเมือง สิ่งปลูกสร้างของเมืองอุดรธานี ห้องถัดไปเป็นห้องชีวิตชาวอุดร ห้องนี้จะจำลองชั้นเรียน ซึ่งเป็นห้องเรียนของโรงเรียนสตรีราชินูทิศ การนำเสนอที่น่าสนใจของห้องนี้คือ กระดานดำเคลื่อนไหวได้ที่บอกเรื่องราวประวัติความเป็นมาของอาคารราชินูทิศ



(ห้องชีวิตชาวอุดร ภาพโดย Siriwan Pannok)

ห้องเมื่อความเปลี่ยนแปลงมาเยือน ผู้เขียนชื่นชอบห้องนี้มากเช่นกัน ไม่ได้นำเสนอจากตัวหนังสืออะไรเลยแต่จำลองที่นั่งบนรถไฟ ทำให้เข้าใจได้ว่าเมื่อเมืองขยายตัวมากขึ้นการคมนาคมก็เริ่มเข้ามา และรถไฟเป็นการคมนาคมที่ดีที่สุดในการจะเดินทางไปสถานที่ไกลๆ

(ห้องเมื่อความเปลี่ยนแปลงมาเยือน ภาพโดย Siriwan Pannok)

ห้องไอร้อนสงครามโลก ห้องระอุสงครามเย็น เป็นห้องที่นำเสนอถึงผลกระทบของสงครามต่อเมืองอุดร ภายในห้องนั้นน่าสนใจเลยทีเดียว ไฮไลท์คือมุมถ่ายรูปที่จำลองการนั่งรอรถ มีประเป๋าเดินทางใบใหญ่และหมวกเป็นพร้อพด้วย แต่เนื่องจากเวลามีจำกัดผู้เขียนจึงไม่ได้สำรวจภายในสองห้องนี้มากนัก ห้องถัดไปเป็นห้อง G.I. ทหารเกณฑ์มะกัน เมื่อเดินเข้าไปในห้องจะมีจัดโซนข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้ในสมัยนั้น โรงภาพยนตร์ ร้านถ่ายรูป ร้านตัดเสื้อ ร้านเสริมสวยในอดีต ผู้เขียนเองตื่นตาตื่นใจมากเพราะได้เห็นสิ่งของที่เขาใช้กันในอดีต และห้องนี้ยังนำเสนอเรื่องราวของกองทัพทหารอเมริกัน โดยจะใช้การฉายภาพเป็นเรื่องสั้นของคนกลุ่มหนึ่งที่คุยกันเรื่องที่สาวไทยรับจ้างเป็นเมียจ้างของ G.I. และการสัมภาษณ์บุคคลที่เคยอยู่ในยุคสมัยนี้ ในยุคนี้จะมีปัญหามากมาย ทั้งปัญหาสังคม ครอบครัว โดยเฉพาะการหย่าร้าง และยังมีการเอาวัฒนธรรมอาหารการกินอย่างข้าวผัดอเมริกันเข้ามาด้วย


(ห้องระอุสงครามเย็น ภาพโดย Siriwan Pannok)



(ห้อง G.I. ทหารเกณฑ์มะกัน ภาพโดย Siriwan Pannok)

ห้องรอยจำแห่งอดีต เป็นห้องที่มีกล้องที่ใช้กันในอดีตวางอยู่กลางห้อง กล้องนี้สามารถถ่ายได้จริง รูปที่ถ่ายมาได้จะเป็นรูปดิจิตอลเหมือนถ่ายออกมาจากกล้องโทรศัพท์มือถือ  ต่อมาเป็นห้องงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกราเป็นการเล่าเรื่องราวการสิ้นสุดของสงครามเวียดนาม จะมีโทรศัพท์ที่เป็นแบบในอดีตวางอยู่บนโต๊ะ ผนังห้องมีปืนที่สื่อไปถึงสงคราม และรูปภาพขาวดำหลายสิบรูปติดอยู่ตรงผนัง


(ห้องงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ภาพโดย Siriwan Pannok)

ห้องทศวรรษที่สูญหาย บอกเล่าเรื่องราวผลกระทบต่อเมืองอุดรหลังจากที่ทหารอเมริกันถอยทัพออกไป และห้องสุดท้ายของชนชั้นบนคือห้องยืนหยัดบนลำแข้ง นำเสนอถึงอาชีพต่าง ๆ ของชาวอุดร กลางห้องจะมีรถตุ๊กตุ๊กจอดอยู่ จะสื่อถึงการปรับตัวหลังจากที่ทหารอเมริกันออกไป จนสามารถยืดหยัดได้ด้วยตนเอง


(ห้องยืดหยัดบนลำแข้ง ภาพโดย Siriwan Pannok)

เมื่อลงมาถึงข้างล่างห้องสุดท้ายคือห้องของดีเมืองอุดร ผู้เขียนชอบเทคโนโลยีการนำเสนอมาก มีโต๊ะตัวใหญ่ตั้งอยู่กลางห้อง มีแผนที่วางไว้หลายแผ่น จะมีช่องให้ใส่แผนที่เข้าไปตรงโต๊ะ เมื่อใส่เข้าไปแล้วก็เกิดเป็นรายละเอียดต่างๆขึ้นมาบนหน้าจอ เรียกได้ว่าไฮเทคมาก ๆ ภายในห้องจะมีห้องเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ เรียกว่าห้องผีจ้างหนัง เป็นการจำลองบรรยากาศจากเรื่องเล่าที่ว่ามีผีจ้างหนังเข้าไปฉายในป่าคำชะโนด ถือได้ว่าเป็นการจำลองบรรยากาศได้เสมือนจริงมาก เพราะผู้เขียนเองก็รู้สึกเย็น ๆ และขนลุกนิดหน่อยเมื่อเข้าไปในห้องนี้


          พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทำเก่าผสมใหม่ได้อย่างลงตัว อาคารที่เก่าแก่กว่าร้อยปีกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการนำเสนอความเป็นเมืองอุดรทำให้ผู้เขียนเองประทับใจเป็นอย่างมาก เปรียบเสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งโลกอนาคต จึงอยากจะเชิญชวนผู้อ่านทุกท่าน หากมีโอกาสลองแวะเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรกันสัดนิด แล้วจะรู้จักเมืองอุดรอย่างที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรตั้งอยู่ที่ ถ.อธิบดี ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เปิดให้เข้าชมวันอังคาร - วันอาทิตย์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดที่เทศบาลฯ กำหนด รอบการเข้าชมมีทั้งหมด 11 รอบด้วยกัน ตั้งแต่เวลา 9 – 15 .30 น. ค่าเข้าชมฟรี















ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากแผ่นพับพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

Comments