ตาพรหม ในดงไพร

                ในกลุ่มปราสาทบริเวณมรดกโลกของเมืองเสียมราฐ ยังมีปราสาทที่น่าสนใจอย่างมากอีกปราสาทนึง นั่นคือ 'ปราสาทตาพรหม' อาจจะเป็นเพราะบริเวณรอบตัวปราสาทยังคงกลิ่นอายของความโบราณไว้ ระยะทางที่เดินเข้าไปในตัวปราสาทนั้นใช้เวลาพอสมควร รอบข้างทางมีแต่ป่าไม้ ตัวปราสาทถูกปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ ปราสาทนี้จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่างมาก

ปราสาทตาพรหม
ภาพโดย Siriwan Pannok

                  ปราสาทตาพรหม ถือได้ว่าเป็นวัดประจำพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระราชมารดาคือพระนางชัยราชจุฑามณี แล้วสถาปนา พระมารดาขึ้นเป็นนางปรัชญาปารมิตา ซึ่งเป็นสตรีที่เป็นตัวแทนของปรัชญา อันเป็นปัญญาบารมีในพุทธศาสนามหายาน 


ปราสาทตาพรหม
ภาพโดย Siriwan Pannok

                  ปราสาทตาพรหมเป็นศาสนสถานทางพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน เป็นศิลปะขอมสมัยบายน อายุราว 800 กว่าปี ปราสาทหลังนี้แม้ว่าจะสร้างขึ้นในศิลปะยุคสุดท้ายของเขมรแต่ก็มีร่องรอยการพังทลายลงมามากกว่าศิลปะสมัยก่อนหน้า เพราะในช่วงนั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงโปรดให้สร้างปราสาทจำนวนหลายหลัง ทำให้ช่างไม่เพียงพอ และวัสดุหายาก เวลามีไม่จำกัด ทำให้กระบวนการสร้างปราสาตาพรหมไม่ละเอียดอ่อนสวยงามเหมือนปราสาทนครวัด โครงสร้างจึงพังทลายมากกว่าปราสาทอื่น


ปราสาทตาพรหม
ภาพโดย Siriwan Pannok


                   ลักษณะเด่นของปราสาทตาพรหมที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากมายก็คือ มีต้นไม้ขึ้นครอบคลุมปราสาทหลายจุด โดยต้นไม้นี้มีชื่อว่าต้นสปง ในภาษาเขมร มาจากภาษาฝรั่งเศสที่เรียกว่า สปองจ์ (sponge)  แปลว่าฟองน้ำหรือเกาะกินผู้อื่น
การที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมแบบนี้นั้นทำให้บรรยากาศ สวยงามน่าพิศวงเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ เหตุผลที่ไม่ตัดต้นไม้พวกนี้ทิ้งไป เนื่องจากกลัวปราสาทพังทลายไปมากกว่านี้ การที่มีต้นไม้มาขึ้นเกาะกุมอาจจะทำให้ปราสาทอยู่นานกว่าการทิ้งไป

                 ถ้าอยากสัมผัสความโบราณอันคลาสสิคของปราสาทขอม ปราสาทหลังนี้เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง ความรู้สึกเมื่อเดินเข้าไปในปราสาท เหมือนหลุดเข้าไปในเมืองลับแลที่น่าพิศวง ถ้ามีโอกาสก็อยากให้นักอ่านทุกท่านได้ไปเยี่ยมชมความสวยงามนี้ด้วยตาของตัวเอง











เอกสารอ้างอิง
กิตติ โล่ห์เพชรัตน์. 2555. ขอมโบราณ. กรุงเทพฯ : ก้าวแรกพับลิชชิง.
วรรณวิภา สุเนต์ตา. 2548. ชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรกัมพูชา. กรุงเทพฯ : มติชน.
สรศักดิ์ จันทร์วัฒนกุล. 2551. 30 ปราสาทขอมในเมืองพระนคร. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

Comments