พญายม เทวดาประจำทิศใต้และเทพแห่งความตาย



ประวัติ
     พระยมหรือที่รู้จักกันในชื่อ พญายม ยมราช เป็นเทวดาผู้รักษาทิศใต้ และเป็นเทพแห่งความตาย
       ในประวัติพระองค์เคยเป็นกษัตริย์ที่ทำการรบกับบ้านเมืองต่างๆจำนวนมาก โดยก่อนที่จะสวรรคตได้ทำการอธิษฐานขอให้ได้เป็นเจ้านรกผู้เป็นใหญ่เหนือคนตายทั้งปวง
       ส่วนในคัมภีร์ฤคเวทกล่าวว่า พระองค์เป็นมนุษย์คนแรกที่ตาย จึงได้ไปเป็นผู้จัดเตรียมที่อยู่และปกครองคนตายทั้งหลาย
ในคัมภีร์อุปนิษัทกล่าวว่าพระองค์เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องความตาย และมีความคิดที่จะหลีกหนีจากความตายด้วยการเรียนรู้ความจริง
      และในคัมภีร์มหาภารตะ กล่าวว่าพระองค์เป็นโอรสของเทพแห่งแสงสว่างมีหน้าที่ตัดสินให้รางวัล และลงโทษผู้ตาย บางครั้งท่านก็มีอำนาจเหนือความตายด้วย




ลักษณะ
     ลักษณะของพระยม มีรูปร่างใหญ่โต มี4กร สีกายคล้ำ เนตรแดง พักตร์ดุร้าย มีรัศมีเหมือนพระอาทิตย์ เครื่องทรงสีเหลือง ทรงมงกุฎ 
สามารถมีรูปลักษณะสีกายเปลี่ยนไปได้หลายลักษณะหลายสี พาหนะคือกระบือหรือ บางคัมภีร์ว่าเป็นนกแสก มีอาวุธเป็นคฑาขนาดใหญ่ เรียกว่ากาลทัณฑ์ หรือยมทัณฑ์ มีบ่วงเรียกว่ายมบาศเอาไว้คล้องวิญญานผู้ตายนำไปสู่ยมโลก 
นอกจากนี้ พระยมยังมีตาเป็นอาวุธที่เรียกว่านยนาวุธ มีบริวารมากมาย เช่น สุนัข 2 ตัว นกเค้า นกแสกและนกแร้ง

วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
       วรรณกรรมคำพยากรณ์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรื่องอาธิไท้โพธิบาทว์ มีเนื้อหากล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เทวดารักษาทิศทั้ง 8 องค์ เป็นผู้บันดาลให้เกิดขึ้นบนโลกมนุษย์ เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้เรียกว่าอุบาทว์ เป็นเหตุการณ์ซึ่งผิดธรรมดาสามัญทั่วๆไป เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์หรืออุบาทว์เกิดขึ้นนั้นมีความเกี่ยวพันกับประวัติและบทบาทหน้าที่ของเทวดาเหล่านั้นตามคัมภีร์โบราณ รวมไปถึงตำนานต่างๆ 
       ในอุบาทว์พระยมนั้น มีการกล่าวถึง ความตาย นกแร้ง นกเค้าและนกแสก เช่น ความเชื่อที่ว่าถ้าเห็นนกแสกเกาะหลังคาบ้านใครจะมีคนตาย สัมพันธ์กับพระยมเพราะนกแสกนั้นเป็นบริวารของพระองค์

ตัวอย่างศิลปะที่พบ

ที่มา : http://www.thapra.lib.su.ac.th/supatlib/picture2.php?check=country&keyword=5&Page=58

       ระเบียงปีกด้านตะวันออกทิศใต้นั้นเป็นภาพแกะสลักเกี่ยวกับภาคแดนสวรรค์-ขุมนรก
ระเบียงภาพนี้ ยาว  66 เมตร แบ่งภาพเป็นสามชั้น คือ สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก
       ภาพสำคัญ คือ ภาพพญายมประทับนั่งท่ามหาราชลีลาสนะบนหลังควายชื่อมหิงสา พระยมมี 18 กร มือถือ คทาเป็นอาวุธครบทุกกร กำลังพิพากษาความดีความชั่วของมนุษย์


ที่มา : http://www.buriram.go.th/tr_phanomrung/Phanomrong1.htm

       ปราสาทพนมรุ้ง ภาพจำหลักเทพประจำทิศ  ปรากฏอยู่ 2  ลักษณะ  คือ  เป็นภาพจำหลักบนกลีบขนุนซึ่งตั้งอยู่เหนือซุ้มบัญชนชั้นเชิงบาตร
       และภาพสลักเทพประจำทิศบนกลีบขนุนปราสาท  ปรากฏใน  4  ทิศหลัก  ซึ่ง1ในนั้นก็คือ พระยมเทพประจำทิศใต้


ที่มา : http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/khonkaen/

       ประติมากรรมหินทรายรูปพระยมทรงกระบือ สวมศิราภรณ์ทรงมงกุฎ มีกระบังหน้า สวมกุณฑล พาหุรัด และเครื่องประดับอื่นๆ พระหัตถ์ทั้งสองข้างหักหายไป
       ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานกู่พันนา จังหวัดสกลนคร ใน พ.ศ.2542 สำนักงานศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น มอบให้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น













เอกสารอ้างอิง

ปราสาทนครวัด. (ม.ป.ป). ปราสาทนครวัด. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2562. จาก : https://www.l2btravel.net/content/4796/

พีรภัทร์ ศรีตุลา. 2555. เทวดารักษาทิศในอาธิไท้โพธิบาทว์. วารสารมนุษยศาสตร์. 19(1), 21-38.

พระยมทรงกระบือ. (ม.ป.ป). พระยมทรงกระบือ. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2562. จาก : http://www.virtualmuseum.finearts.go.th

ภาพจำหลัก. (ม.ป.ป). ภาพจำหลัก. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2562. จาก : http://www.buriram.go.th/tr_phanomrung/Phanomrong1.htm

ส. พลายน้อย (นามแฝง). 2519. เทวนิยาย. กรุงเทพฯ: บัณฑิตการพิมพ์.

อัญชลี จิตรสุคนธ์. 2524. พระยมในวรรณคดีสันสกฤต บาลี ไทย. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาตะวันออก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Comments